Tuesday, May 15, 2012

เรื่องแล็บที่ควรรู้ .. Need 2 know re: Labs

ป้าหายไป ..แอบหนีไปเที่ยวงาน Floriade มา หนุ๊กหนุกล่ะตัวเอง ...ก็ 10 ปีแกเล่นมีครั้งหนึ่งอ่ะ ป้าก็เลยรีบไปซะก่อน จะรอ 10 ปีหน้าก็ไม่รู้จะเป็นฝุ่นไปแล้วป่าวไง (ป้าน่ะเป็นฝุ่น ไม่ใช่งานเค้า เอิิ๊กๆ)

เดี๋ยวพรุ่งนี้ถึงวันนัดหมอ endoฯ ละ ก็จะมา update ให้อ่านกันนะคะว่าที่ป้าหยุดยาตามที่ป้าแครอลแกเสนอแนะน่ะ ผลเลือดจะออกมาเป็นไงมั่ง ช่วยไม่ให้กลายเป็น hyPO ได้หรือเปล่า ฯลฯ

แต่สำหรับวันนี้ ขอลงเรื่องสำคัญให้อ่านก่อนค่ะ...พอดีเพื่อนส่งข้อมูลที่ดีอย่างแรงมาให้ เป็นประโยชน์มหาศาลเกินจะทำเพียงแค่ FW เมล์ได้ เลยอยากเอามาลงไว้ในนี้ด้วย เผื่อหลานๆ ได้ทราบกันด้วยค่ะ ไม่เกี่ยวกับโรคไทรอยด์ของหมู่เฮาโดยตรงหรอกนะ แต่ก็เป็นเรื่องเจ็บๆ ป่วยๆ เหมือนกัน และเป็นการดีที่ได้รู้เป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ

"โรคแล็บทำ"... ปสด. เพราะผลแล็บ

อ่านความจริงที่ไม่เป็นข่าวนี้ดู

เคยมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "โรคหมอทำ"เป็นเรื่องราวว่าด้วยการเกิดโรคในผู้ป่วย เหตุเพราะการตรวจรักษาของแพทย์ !แล้วเป็นผลให้เกิดความแทรกซ้อนต่างๆ

ต้องรู้ว่าแพทย์ไม่ใช่เทวดา แน่นอนว่าแพทย์ต้องตั้งใจตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด แต่ก็อาจเกิดเหตุอันคาดไม่ถึงขึ้นได้ น้อยที่สุดก็แล้วกัน แต่ถ้าจะคาดหวังให้แพทย์ทำการตรวจรักษาไม่ให้ผิดพลาดเลย ถ้าผิดพลาดจะต้องถูกฟ้องร้องอย่างสุดชีวิต ย่อมเป็นแรงบีบคั้นที่ยากจะรับได้ของคนที่ยังไม่ใช่เทวดา แต่วันนี้ผมอยากจะจุดประเด็นเรื่อง " โรคแล็บทำ" ดูบ้าง

ลองอ่านเรื่องจริงต่อไปนี้แล้วใคร่ครวญ ทั้งนี้ ชื่อของโรงพยาบาลและห้องแล็บที่เกี่ยวข้อง ผมขอสงวนไว้โดยใช้เป็นตัวอักษรขึ้นมาแทน

เรื่องราวมีอยู่ว่า คุณเพิ่มชัยมีอันจะต้องเข้าโรงพยาบาล ก. เพื่อรักษาโรคติดเชื้อเรื้อรังอยู่ประการหนึ่ง บังเอิญแพทย์ตรวจละเอียดลงไปถึงค่าบ่งชี้มะเร็ง CA 19-9 ก็พบว่ามีค่า สูงผิดปกติถึง 99 U/ml (ค่าปกติ0-27 U/ml) เนื่องจากค่า CA 19-9 บอกถึงความเป็นไปได้ของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี เป็นต้น ในเมื่อตรวจได้สูงขนาดนี้ ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องดำเนินการตรวจอื่นๆ เพื่อหาให้ได้ว่า คุณเพิ่มชัยจะมีมะเร็งที่ก่อตัวขึ้นตรงไหนบ้าง

เขาถูกตรวจไปทั่วตั้งแต่การทำ MRI แล้วก็ส่องกล้องทางหลอดอาหารและกระเพาะ
ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ก็ไม่เจอมะเร็ง พอดีว่าเกิดตรวจเจอนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จึงทำการผ่าตัดถุงน้ำดีเอานิ่วออก แล้วก็เอาไปพิเคราะห์ก็ยังไม่พบมะเร็ง ค่า CA 19-9 ก็ลดลงนิดเดียว เป็น 87 U/ml. และ 79.9 U/ml. ในเดือนถัดไป

นั่นแปลว่า ข้อสงสัยในเรื่องที่ว่าอาจมีมะเร็งอยู่ที่ใดที่หนึ่งยังไม่หมดไป แต่ในเมื่อตรวจไม่เจอ แพทย์ก็ได้แต่บอกให้ติดตามผลเป็นระยะๆ รวมความแล้วคุณเพิ่มชัยใช้จ่ายไปแล้ว 2 แสนกว่าบาท

แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครก็ต้องร้อนใจอย่างไม่ธรรมดา คุณพิชัยก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อการแพทย์แบบแผนยังให้คำตอบใดๆ ไม่ได้ ก็ต้องหันหาธรรมชาติบำบัด คุณเพิ่มชัยเริ่มควบคุมอาหารด้วยตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์อีกต่อไป ปั่นน้ำผักกิน ออกกำลังกาย และพยายามฝึกสมาธิ และแล้วก็เดินเข้ามาหาผมเพื่อขอคำแนะนำ ผมตรวจเลือดให้เขาใหม่ แล้วก็พบเป็นที่ประหลาดใจว่า ค่า CA 19-9 ของเขามีระดับแค่ 4.8 U/ml. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าอย่างนั้นจะอธิบายได้อย่างไรถึงความแตกต่างของแล็บสองแห่งคือของ รพ.ก.กับแล็บ ข. ที่ผมส่งตรวจเป็นประจำ

เพื่อความแน่ใจหัวหน้าเทคนิเชียนของแล็บ ข. ได้ขอตรวจเลือดซ้ำซึ่งคุณเพิ่มชัยก็ยอม
ขณะเดียวกันคุณเพิ่มชัยรู้สึกสับสนเป็นอย่างมากจึงเดินเข้าไปตรวจเลือด ณ โรงพยาบาล ว. อีกแห่งหนึ่งด้วย โดยไม่ได้บอกเรา ปรากฏว่าผลของแล็บ ข. ออกมาเป็น 9.0 U/ml. ซึ่งก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ผลเลือดของโรงพยาบาล ว.กลับพบว่าเป็น 75.8 U/ml.!

ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าแล็บ ข. มีความผิดพลาดเช่นนั้นหรือ?

นับเป็นความละเอียดในการทำงานอย่างสูงของหัวหน้าเทคนิเชียนของแล็บ ข. ซึ่งพยายามหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยที่ในระหว่างที่เธอตรวจเลือดซ้ำให้กับคุณเพิ่มชัย
เธอได้ส่งตัวอย่างเลือดไปยังแล็บ ของ 1 โรงพยาบาล1 โรงเรียนแพทย์ และอีก 1 ห้องแล็บ เพื่อยืนยันกัน

ผลก็ปรากฏออกมาดังนี้ว่า - แล็บโรงพยาบาล กท. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่พอๆ กับสองแห่งแรก ได้ผล 9.24 U/ml. แล็บโรงเรียนแพทย์ ซึ่งระบุชื่อ ณ ที่นี้ได้ คือโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ผล 8.8 U/ml. ส่วนแล็บเอกชนอีกที่หนึ่งคือ แล็บ บ.ได้ 72.4 U/ml.

เรื่องนี้จะเข้าใจอย่างไร เพราะกลายเป็นว่าแล็บของโรงพยาบาลใหญ่ๆ แล็บโรงเรียนแพทย์ และแล็บเอกชนอีก 2 แห่ง ตรวจได้ผลออกมาเป็น 2 ขั้ว

เพื่อที่จะหาคำตอบให้ถึงที่สุด หัวหน้าเทคนิเชียนของแล็บ ข. จึงติดต่อกันระหว่างเพื่อนเทคนิเชียนในแต่ละโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ แล้วความจริงก็ปรากฏออกมาในที่สุด

คําอธิบายในเรื่องนี้ก็คือ ณ ปัจจุบันนี้น้ำยาที่ใช้ในการตรวจค่า CA 19-9 ของโรงพยาบาลและแล็บต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีแหล่งซัพพลายจาก 2บริษัท คือบริษัทแอ็ปบอต และบริษัทโรช

ของบริษัทแอ็ปบอตนั้นมีความไวสูงมาก ผลก็คือมักจะตรวจได้ค่าสูง โดยอาจจะเกิดผลบวกลวง (false positive) ได้เยอะ อย่างกรณีของคุณเพิ่มชัย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นมะเร็งแต่อย่างใด แต่เนื่องจากความไวของน้ำยาจากบริษัทแอ็ปบอตทำให้อ่านค่าได้ว่าสูง ส่วนของบริษัทโรชนั้น มีความไวต่ำกว่า จึงเกิดผลบวกลวงได้น้อยกว่า

ทีนี้โรงพยาบาลที่ใช้น้ำยาของแอ็ปบอตก็ ได้แก่ โรงพยาบาล ก. , โรงพยาบาล
ว., โรงพยาบาล ธ. และ แล็บ บ.

ส่วนโรงพยาบาลที่ใช้น้ำยาของโรช ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี , โรงพยาบาล
กท., โรงพยาบาลบร. , โรงพยาบาล ส. และแล็บ ข. ซึ่งเราส่งตรวจมาตลอด

เมื่อทราบเรื่องราวทั้งหมดเป็นดังนี้ คุณเพิ่มชัยก็มีอันสบายใจได้ ว่าที่แล้วมาเป็นผลบวกลวงอันเกิดจากน้ำยาของแล็บทั้งสิ้น เงินที่เสียไปก็ด้วยความปรารถนาดีของแพทย์ซึ่งพบว่าค่าบ่งชี้มะเร็งของเขาสูงจัด จึงต้องตรวจหาแหล่งมะเร็ง เป็นอันเข้าใจได้ แต่เรื่องนี้ก็มีอันทำให้เขา ปสด. ไปหลายเดือนทีเดียว ส่วนแพทย์ที่ตรวจให้คุณเพิ่มชัยนั้น ผมเชื่อว่าท่านก็ไม่รู้หรอกว่าในกระบวนการตรวจแล็บมะเร็งในปัจจุบันจะมีน้ำยาที่ให้ผลแตกต่างเป็น2 ขั้วเช่นนี้ แม้กระทั่งผมเองและเชื่อได้ว่าแพทย์ทั่วประเทศไทยต่างก็ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางในเรื่องนี้เช่นกัน ต้องขอบคุณหัวหน้าเทคนิเชียนของแล็บ ข. เธอสู้อุตส่าห์เสาะหาคำตอบในเรื่องนี้ออกมาในที่สุด

อย่างไรก็ตาม กรณีของคุณเพิ่มชัยเป็นอุธาหรณ์ประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง "โรคแล็บทำ"นั่นก็คือ ปัจจุบันนี้มีการตรวจหามะเร็งอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยบางทีก็ไม่มีข้อบ่งชี้อันสมควร เช่น บางโรงพยาบาลหรือบางแล็บมีการรับเหมาตรวจเลือดให้กับพนักงานของทั้งบริษัท หรือทั้งวิสาหกิจ เป็นแพ็กเกจแบบเหมาทั้งองค์กร ตรวจเลือดหลายอย่างรวมทั้งตรวจค่าบ่งชี้มะเร็งแบบครอบจักรวาลด้วย บางแล็บก็เสนอขายการตรวจค่าบ่งชี้มะเร็ง 12ชนิดให้กับใครก็ได้ที่กลัวจะเป็นมะเร็ง ในอัตราแพ็กเกจหลายพันบาท ผลที่ออกมาก็เป็นได้หลายอย่าง ส่วนใหญ่อาจจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ เจ้าตัวก็เกิดความสบายใจ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงทางการแพทย์แล้ว ค่าบ่งชี้มะเร็งถ้าได้ผลลบ ในทางการแพทย์แล้วก็ไม่ได้ตัดใจได้ว่าคนๆ นั้นไม่เป็นมะเร็ง เพราะส่วนใหญ่ของคนเป็นมะเร็งนั้นค่าบ่งชี้มะเร็งไม่ขึ้นผิดปกติเสียด้วยซ้ำ

แปลว่า การตรวจครอบจักรวาลเช่นนี้ ถ้าได้ผลลบไม่ได้ตัดประเด็นการเป็นมะเร็งไปได้ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเกิดได้ผลบวก ในจำนวนนั้นอาจมีส่วนหนึ่งเป็นมะเร็งจริง แต่ก็จะมีคนอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่เกิดถูกตรวจได้ผลบวกเทียม อย่างกรณีของคุณเพิ่มชัยเป็นตัวอย่าง เรื่องแบบนี้ถ้าเกิดกับใครก็ต้องนับว่าโชคร้ายมหาศาล เขาคนนั้นจะ ปสด. ไปเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ และสุดท้ายก็อาจกลายเป็นมะเร็งขึ้นมาจริงๆ ด้วยความเครียดจากผลแล็บเป็นเหตุก็อาจเป็นได้

แท้ที่จริงแล้ว ในโรงเรียนแพทย์จะสอนลูกศิษย์มาหลายสิบปีแล้วว่า การตรวจรักษาผู้ป่วยให้ดำเนินการเป็นขั้นๆ ไป เริ่มจากการซักประวัติซึ่งจะไขคำวินิจฉัยได้ราว 50%จากนั้นตรวจร่างกายจะไขคำวินิจฉัยได้อีก 25% จากนั้นตรวจแล็บปกติ เช่น แจงนับเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด ซึ่งอาจไขคำวินิจฉัยได้อีก 15%เหนือกว่านั้นแล้วจึงค่อยสั่งตรวจแล็บพิเศษต่างๆ นี่คือการประกอบโรคศิลปะอย่างรับผิดชอบกับผู้ป่วย แถมช่วยผู้ป่วย ช่วยต้นสังกัด ช่วยประเทศชาติประหยัดการตรวจต่างๆ ที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นออกไป

แต่ทุกวันนี้ ! การแพทย์พาณิชย์กำลังเข้ามาเบียดเบียนกระบวนการประกอบโรคศิลปะให้ผิดปกติไป การกระโดดข้ามขั้น ไม่ซักประวัติ ไม่ตรวจร่างกายผู้ป่วย และแล้วไปตรวจค่าบ่งชี้มะเร็งอย่างครอบจักรวาล ถึงขั้นที่ว่าโรงพยาบาลหรือแล็บเปิดแพ็กเกจรับเหมาตรวจพนักงานเป็นกลุ่มก้อน หรือเป็นแพ็กเกจเหมาตรวจมะเร็งสิบกว่าอย่าง โดยที่แพทย์อาจไม่ได้เห็นหน้าผู้รับการตรวจแต่ละคนด้วยซ้ำไป การดำเนินงานเยี่ยงนี้ น่าจะนับอยู่ในความถูกต้องตามครรลองคลองธรรมแล้วหรือ ? และจะมีใครตกเป็นเหยื่อของ "โรคแล็บทำ" อีกกี่สิบกี่ร้อยราย ใครจะรู้บ้าง ? ทุกวันนี้ผมได้แต่เตือนผู้คนรอบข้างว่า"อย่าตกเป็นเหยื่อของการตรวจมะเร็งแบบครอบจักรวาลเป็นอันขาด"

* ธรรมชาติบำบัด กับ นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล *