TSH - Thyroid-stimulating Hormone: หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า thyrotropin เป็นฮอร์โมนที่มาจากต่อมใต้สมอง (pituitary gland) และมีหน้าที่ควบคุมระดับฮอร์โมนในร่างกาย เวลาที่ส่วนของสมองที่เรียกว่า hypothalamus (ผู้ควบคุมเรื่องความหิว ความกระหาย อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต ฯลฯ) จับได้ถึงระดับฮอร์โมนที่ต่ำไป เค้าจะสั่งให้ต่อม pituitary หลั่ง TSH เพิ่มขึ้น และ TSH ก็จะสั่งให้เซลล์ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเพิ่ม พอเจ้า hypothalamus เห็นว่าระดับฮอร์โมนเพียงพอแล้วหรือสูงไปแล้ว ก็จะสั่งให้ต่อม pituitary หยุดหลั่ง TSH ..ในผู้ที่เป็น hypothyroidism (ต่อมไทรอยด์อักเสบ - หลั่งฮอร์โมนน้อยเกินไป) ค่า TSH จะสูง ส่วนผู้ที่เป็น hyperthyroidism (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ - หลั่งฮอร์โมนมากเกินไป) ค่า TSH จะต่ำ
T4 - thyroxine, T3 - trilodothyronine: คือฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมไทรอยด์ โดยปกติ T3 จะถูกผลิตออกมาในปริมาณที่น้อยกว่า T4 แต่ T3 ทำงานแอคทีฟกว่า T4 ถึง 10 เท่า และส่วนใหญ่เป็นผลผลิตในร่างกายที่มาจากการแปลงจาก T4 (หรือการเสีย 1 โมเลกุลของไอโอดีน) ฮอร์โมนไทรอยด์ประกอบด้วยไอโอดีน 65% และ T4 มี 4 อะตอมไอโอดีน ขณะที่ T3 มีอยู่ 3 อะตอม ..ค่า T3 ในผลเลือดจะสูงในผู้ป่วยที่เป็นคอพอกและ/หรือ hyperthyroidism แต่สำหรับผู้ป่วยเป็น hypothyroidism มักเชื่อใจ T3 ไม่ค่อยได้นัก เพราะบางครั้งแม้ค่า TSH จะสูงมากและค่า FT4 ต่ำ แต่ T3 ปกติเฉยเลย
FT4 - Free thyroxine และ FT4I/FTI – Free T4 Index: คือฮอร์โมน T4 ชนิดอิสระ (ไม่ได้จับกับโปรตีน) และสัดส่วนค่าของ FT4 สำคัญมากในการตรวจสภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพราะในผู้ป่วย hyperthyroidism ค่า FT4 หรือ FTI จะสูงมาก และกลับกันสำหรับผู้เป็น Hypothyroidism
การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไทรอยด์ จะแม่นยิ่งขึ้นเมื่อตรวจค่า TSH กับ FT4/FTI ควบคู่กัน เช่น ถ้า TSH สูงเกินเกณฑ์แต่ FT4/FTI ต่ำ นั่นแสดงว่าผู้ป่วยเป็น Primary Hypothyroidism ที่มาจากโรคที่เกิดขึ้นในต่อมไทรอยด์ ..หรือถ้าต่ำทั้ง TSH และ FT4/FTI แสดงว่าเป็น Hypothyroidism ที่มาจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือ (pituitary gland) ..และถ้า TSH ต่ำในขณะที่ FT4/FTI สูง นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยเป็น Hyperthyroidism ค่ะ
TSI - Thyroid Stimulating Immunoglobulins: นี่คือศัตรูตัวยงของ Graves' Disease ที่ทำให้เกิด Hyperthyroidism ในผู้เป็น Graves' Disease รวมถึงตาโปน และผิวแห้งบริเวณหน้าแข้งด้วย
TSI เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งเรียกว่า อิมมิวโนกล็อบบิวลิน (Immunoglobulin) ซึ่งทำปฎิกิริยากับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง คือ TSH receptor ที่เกาะอยู่บนเซลล์ไทรอยด์, เซลล์ต่อม pituitary, เซลล์กล้ามเนื้อตาและเซลล์ผิว เวลาร่างกายได้ฮอร์โมน, ได้ยา หรือได้สารเคมีต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะไปจับ (bind) กับตัว receptors เพื่อออกฤทธิ์ตามที่มันถูกกำหนดค่ะ
โดยปกติแล้ว TSH เป็นตัวเดียวที่มีปฎิกิริยากับ TSH receptor โดยเป็นตัวกระตุ้นให้ TSH receptor ผลิตออร์โมนไทรอยด์และสั่งให้เซลล์ไทรอยด์เติบโต ...แต่เจ้า TSI ตัวแสบนี่แหละค่ะ มัน "ปลอมตัว" เป็น TSH แล้วไปจับกับ TSH receptor หลอกให้เซลล์ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาเป็นถังๆ อย่างเนียนๆ เฉยเลย เทียบลักษณะได้ประมาณน้ำท่วมยังไงยังงั้น พอฮอร์โมนกระฉูด ค่า TSH ในเลือดก็ตกฮวบ ส่วนมากต่ำไปถึง 0.01 mu/L หรือน้อยกว่าเลยทีเดียว คนเป็น Graves' Disease ก็เลยได้แถม Hyperthyroidism มาอีกหนึ่งโรคตามระเบียบ
ก่อกวนแค่นั้นยังไม่หนำใจ เจ้า TSI ไปจีบกล้ามเนื้อตาที่เรียกว่า Orbital Fibroblasts แล้วหว่านเสน่ห์ให้เซลล์เหล่านี้ปล่อยสารตัวหนึ่งชื่อ GAG ออกมาแบบน้ำท่วมเหวอีกราย ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวไปแออัดจุมปุ๊กกันในกระบอกตา เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อตาก็เลยโดนขยายไปโดยปริยาย สุดท้ายก็ไปจบที่ตาโปนค่ะ
No comments:
Post a Comment