๐ ตาโปน - Graves Disease, Thyroid Ophthalmopathy

สรุปโดยสังเขปจาก Thyroid Eye Disease "Understanding Graves' Ophthalmopathy เขียนโดย Elaine Moore
===========================
- โรคตาที่เกี่ยวเนื่องกับอาการทางไทรอยด์ เรียกว่า Graves' Ophthalmopathy หรือเรียกย่อๆ ว่า "จีโอ" (GO)

- ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ นอกเหนือจาก GO ด้วย ได้แก่.. Thyroid Eye Disease (TED), Thyroid Associated Ophthalmopathy (TAO), Dysthyroid Orbitopathy, Thyroid Ophthalmopathy, Immune Exophthalmos, และ Graves' Eye Disease

- GO เป็นความผิดปกติทางดวงตา ที่ทำให้ตาโปนออกมา มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทางไทรอยด์บกพร่อง (AITD, Autoimmune thyroid disease - Hyperthyroidism และ Hypothyroidism) 


- ในกรณีผู้ป่วย Hyper นั้น GO อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หรือก่อนหน้า หรือภายหลังหายจากโรคทางไทรอยด์ก็ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นควบคู่กันไป และที่พบมากคือ นับจากวันที่ผลเลือดแสดงไทรอยด์บกพร่องไปราว 12-18 เดือน อาการ GO จึงเริ่มแสดงออกมา แต่บางคนเป็นตาโปนนำมาก่อนถึง 10 ปี และบางคนไทรอยด์ปกติแล้วแต่ตามาโปนเอา 20 ปีให้หลังเพราะไปกลืนรังสีก็มีให้เห็นมาแล้วค่ะ

- ส่วนผู้ป่วย Hypo (Hashimoto) นั้น GO นึกจะโผล่เมื่อไรก็เมื่อนั้นเลยค่ะ และมักเกิดกับผู้ป่วยที่ขาดการรักษาดูแล หรือมี TSH receptor antibodies สูงนะคะ

- 80% ของ GO เกิดในผู้ป่วยที่เป็น Graves Disease (ไทรอยด์เป็นพิษ Hyperthyroidism) และราว 10% เป็นในผู้ป่วย Hashimoto's Thyroiditis (HT) (ไทรอยด์เฉื่อย Hypothyroidism) นอกจากนี้ บางคนที่ผลเลือดทางไทรอยด์ปกติ ก็ยังเกิดอาการตาโปน GO ได้ด้วย เรียกว่าเป็น Euthyroid Graves' Disease ในหมู่นี้เกิดอยู่ที่อัตราส่วน 10%


- ในด้านของอายุผู้ป่วย กรณีศึกษาในรัฐมินนิโซต้าที่ทำช่วงระหว่างปีค.ศ. 1976-1990 บ่งชี้ว่า ผู้หญิงในช่วงวัย 40-44 ปีและ 60-64 ปีจะเป็น GO กันมากกว่าช่วงวัยอื่น สำหรับผู้ชาย ช่วงอายุที่พบ GO มากสุดคือ 45-49 และ 65-69 ปีค่ะ


- สาเหตุในการเกิด GO และ AITD มาจากทั้งทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสภาพแวดล้อมรวมกันค่ะ นั่นคือ ผู้ป่วยที่มียีนส์บางประเภทสามารถเป็น AITD และ GO ได้ถ้าเจอตัวกระตุ้นทางสภาพแวดล้อม อย่างเช่น ความเครียด, การติดเชื้อ, ไอโอดีน, ยาฆ่าเชื้อ/ต้านมะเร็ง เช่น interferon และ interleukin, และยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นกับดวงตาคือ สิ่งกระตุ้น และ/หรือ ฮอร์โมนไทรอยด์ที่ถูกผลิตออกมาเกินพิกัด จะไปทำให้ของเหลวและเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนขึ้นในลูกตา ทำให้เนื้อเยื่อไขมันในตาขยายตัวหรือบวมแล้วก็เลยพากล้ามเนื้อตาขยายตามไปด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เกิดแรงดันในกระบอกตาด้านหลัง เนื้อเยื่อตาก็เลยอักเสบ แดง และบวมขึ้นมา พอบวมก็เลยไปดันลูกตาให้ล้นออกมาด้านหน้า ตาก็เลยโปนนั่นเองค่ะ


-  ลักษณะโดยทั่วไปของ GO คือ ตาโปน ตาเหลือก ตาแห้ง ระคายเคืองตา ในขณะที่กล้ามเนื้อตาขยายตัวนั้นจะส่งผลให้เกิดอาการ 3 อย่าง ได้แก่ (1.) ลูกตาถูกดันให้ยื่นออกมา กลายเป็นตาโปน/ตาเขม็ง และ/หรือ (2.) กล้ามเนื้อบางส่วนถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ทำให้ดวงตาเห็นภาพซ้อน และ/หรือ (3.) กล้ามเนื้อตาขยายไปกดเส้นประสาทตาทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนเคย ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนเกิดอาการเพียง 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 ของอาการเหล่านี้ มีบางคนที่เป็นครบทั้ง 3 อย่างเลยก็มี

- GO เป็นโรคที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน และผู้ป่วยแต่ละคนก็จะเผชิญ "อิทธิฤทธิ์" ของโรคต่างกันไปทั้งแบบและเวลา โดย GO จะรุกรานมาก-น้อยแล้วแต่อารมณ์ของมัน ทำให้ผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการไม่ซ้ำกัน คือ คนนั้นโปนมาก แต่คนนี้โปนน้อย คนนู้นเป็นนานนับปี แต่บางคนเป็นแค่ปีเดียว เป็นต้น

- GO จะมี time frame หรือกรอบช่วงเวลาของมันเองโดยไม่เกี่ยวเนื่องกับผลเลือดของไทรอยด์ค่ะ หมายถึงว่า บางคนที่ไทรอยด์ปกติแล้ว ตาก็อาจยังโปนต่อไปอีกระยะหนึ่งได้ แต่ที่แน่นอนสำหรับ GO คือ มันมีช่วงอาการอยู่ 3 ระยะด้วยกัน คือ (1.) Active Phase (2.) Plateau Phase และ (3.) Recovery Phase ซึ่งทั้งหมดนี้ ใช้เวลารวมแล้วโดยปกติ 1-2 ปีสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่ในบางกรณี บางคนโปนกันยาวเป็น 5-10 ปีเลยก็มีค่ะ

1.  Active Phase
- หรือเรียกอีกอย่างว่า Wet Phase การดูแลรักษาที่เริ่มตั้งแต่ระยะแรกนี้จะเห็นผลได้ดีที่สุด
- ในช่วงนี้ ตาจะโปนมากและค่า TSI ในเลือดจะสูงมาก มักเป็นกันอยู่ 3-6 เดือนก็เริ่มเห็นการยุบนะคะ แต่ก็มีที่ไม่ยุบไปนานถึง 3 ปีก่อนเข้าระยะที่ 2 ด้วยค่ะ อาการที่พบกันนอกจากตาโปนมาก ก็มีตาแดง เห็นเส้นเลือดแดงในตาอย่างชัดเจน บางคนเห็นภาพซ้อนอยู่บ้าง หลายๆ คนจะสู้แสงจ้ามากไม่ได้ น้ำตาไหลเยอะ บางคนมีปวดกระบอกตาด้วยค่ะ

2.  Plateau Phase
- มีอีกชื่อว่า Reduced Activity ถ้าเพิ่งมาเริ่มการบำบัดรักษาในช่วงนี้ก็จะไม่ช่วยอะไรแล้วค่ะ เพราะเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันจะเข้าสู่ช่วงนิ่ง inactive และไม่ตอบสนองต่อยาแล้ว
- ในระยะนี้ของโรค ถึงแม้ว่าอาการโปนจะยังพอมีให้เห็นอยู่ แต่ผู้ป่วยจะเริ่มเห็นเช่นกันว่าตาเริ่มดูดีขึ้น นั่นเพราะการอักเสบในกระบอกตาลดลงแล้วล่ะค่ะ น่าเสียดายที่บ่อยครั้ง ผู้ป่วยหลายๆ คนมักจะใจร้อน เพราะเห็นเหมือนใกล้จะหายแล้วนี่นา ทำไมหุบยุบช้าจัง บางคนเลยรีบไปทำศัลยกรรมให้ตาเท่ากัน แต่แท้จริงโรคยังไม่จบขั้นตอนของมัน พอไปๆ ตาก็เลยแย่ไปกว่าเดิม

3.  Inactive Phase
- อีกชื่อหนึ่งของระยะนี้คือ Dry หรือ Resolution Phase เป็นช่วงที่การอักเสบไม่เหลืออยู่แล้วค่ะ แต่ในบางรายที่การยุบไปตามธรรมชาติไม่เกิดขึ้น ก็อาจเกิดปัญหาเรื่องเห็นภาพซ้อน จากการที่กล้ามเนื้อรอบนอกดวงตาเป็นพังผืดและหดตัว และถึงแม้ผู้ป่วยในระยะนี้ของโรคจะไม่มีอาการของการอักเสบ (น้ำตาไหล ตาแดง ตาแห้ง ฯลฯ) ให้เห็นแล้ว แต่ก็ยังมีอาการโปนของตาหลงเหลืออยู่บ้างได้เหมือนกันค่ะ

ในหนังสือของคุณอิเลนเล่มนี้ ยังมีสาระที่ให้ความรู้และเป็นประโยชน์อีกยาวเหยียดทีเดียวค่ะ แต่ป้าคงได้แค่สรุปที่หลักๆ มาเพียงแค่นี้อ่ะค่ะ นอกจากจะแปลกันทั้งเล่มไม่ไหวแล้ว อาจโดนข้อหาลิขสิทธิ์ไปโน่นก็แย่เลย เหะๆ ถ้าไม่อยากสั่งซื้อทาง Amazon ก็ให้ที่ Asia Books หรือ Bookazine สั่งให้ก็ได้ค่ะ ไม่มีคิดราคาเพิ่มด้วยล่ะ

โชคดี หายเร็วกันทั่วหน้านะคะ ^_^

No comments:

Post a Comment